ข้าวแกงกะหรี่ ซูชิ ญี่ปุ่น ประวัติอาหารญี่ปุ่น มิโซะซุป ยากิโทริ ราเมน อาหารญี่ปุ่น อูด้ง ูชาบู เกี๊ยวซ่า เทมปุระ โซบะ โอนิกิริ โอโคโนมิยากิ

รู้ไว้จะได้สั่งถูก!! มาทำความรู้จักกับ 13 อาหารญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้

Home / แนะนำความอร่อย / รู้ไว้จะได้สั่งถูก!! มาทำความรู้จักกับ 13 อาหารญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้

อาหารญี่ปุ่นที่สมัยนี้กินกันได้ทุกชาติ อาหารญี่ปุ่นได้แพร่หลายไปตามประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทย คนไทยก็นิยมกินอาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก บางร้านที่เสิร์ฟอาหารญี่ปุ่น คุณภาพไม่แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่น หากินได้ง่ายสุดๆ เรากินอาหารญี่ปุ่นกันมานานแล้ว มาศึกษาประวัติความเป็นมากันดีกว่าว่าแต่ละประเภทนั้นมีประวัติอย่างไรบ้าง

รู้ไว้จะได้สั่งถูก!! มาทำความรู้จักกับ 13 อาหารญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้

1. ซูชิ

ซูชิ หรือ ข้าวปั้นที่มีหน้าต่างๆ ต้นกำเนิดมาจากแถบถิ่นเอเชียอาคเนย์ ด้วยเหตุว่าประเทศเป็นเมืองร้อน แถบนี้มีอาหารที่ถนอมหรือหมักด้วยข้าวหลายชนิดรวมถึงซูชิ สมัยก่อนยังไม่มีตู้เย็น การถนอมอาหารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

  1. ซูชิเกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อเป็นการถนอมอาหาร
  2. หลายคนเข้าใจผิดว่าซูชิคือปลาดิบ แต่แท้ที่จริงแล้วซูชิคือข้าวหุงผสมกับน้ำส้มสายชู น้ำตาลและเกลือ
  3. ซูชิเริ่มต้นจากการเป็นฟาสต์ฟู้ดราคาถูก
  4. ทั่วโลก มีร้านซูชิทั้งหมดประมาณ 61,000 ร้าน
  5. แคลิฟอร์เนีย โรล สร้างสรรค์โดยชาวอเมริกันในช่วงปี 1970 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำซูชิมาผสมกับอาหารชาติอื่นๆ หรือที่เรียกว่าฟิวชั่น (Fusion)
  6. ประเทศโปรตุเกสเป็นผู้สร้างเมนูเทมปุระ
  7. ปลาปักเป้าหรือฟุกุ เป็นเนื้อปลาที่เป็นอันตรายเพราะมีพิษสูง ดังนั้น ประเทศญี่ปุ่นจึงมีกฏหมายห้ามจักรพรรดิ์ของญี่ปุ่นเสวยปลาปักเป้า
  8. ฮ่องกงเป็นประเทศที่มีการสั่งซูชิมากที่สุด ตามมาด้วยประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์และอินโดนีเซีย
  9. ซูชิหน้าปลาแซลมอน เป็นซูชิที่คนสั่งมากที่สุด ตามมาด้วยทูน่า สไปซี่แซลมอน แซลมอน เมนทาอิ (เนื้อแซลมอนดิบเต็มคำ ราดน้ำซอส ไข่กุ้ง) และข้าวห่อสาหร่ายหน้าไข่กุ้ง (Gunkan)

….

2. ราเมน

ราเมง หรือราเมน (Ramen) ต้นกำเนิดของราเมงมาจากประเทศจีน โดยมีสมมติฐานว่า “ราเมง” อาจจะเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ลาเมียน” (La Mian) ในภาษาจีนที่หมายถึง เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ใช้มือนวด หรืออีกคำหนึ่ง “เลาเมียน” (Laomian) ซึ่งก็คือ ก๋วยเตี๋ยวโบราณในภาษาจีนนั่นเอง อีกทั้งในประวัติศาสตร์ก็มีบันทึกด้วยว่า คนญี่ปุ่นเริ่มรู้จักบะหมี่น้ำในคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ยุคเมจิ) จากการที่โทคุกาวะ มิทซึคุนิ ไดเมียวสมัยเอโดะ ได้รับประทานเป็นคนแรก ซึ่งในสมัยนั้น ราเมงจะถูกเรียกว่า “ชินะโซบะ” ที่แปลว่าโซบะจีน แต่ถึงอย่างนั้นราเมงก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในแดนอาทิตย์อุทัยเท่าไรนัก

จนกระทั่งราว ๆ ปี ค.ศ. 1900 ชาวจีนที่ค้าขายอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก็หัวใสทำราเมงขายคู่กับเกี๊ยวซ่า จัดเป็นชุดขายให้คนที่ใช้แรงงานได้กินอย่างอิ่มหนำสำราญ โดยในยุคนั้นก็มีการตะโกนโฆษณาเรียกลูกค้ากันด้วย ซึ่งนั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักราเมงกันอย่างแพร่หลายนับแต่นั้นเป็นต้นมา

….

3. เทมปุระ

เทมปุระ ต้นกำเนิดมาจากโปรตุเกส อาหารจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาในญี่ปุ่นทางนางาซากิ คิวชู กล่าวกันว่าในช่วงกลางศตรวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาทางจังหวัดนางาซากิ เกาะคิวชู และยังได้นำวัฒนธรรมอาหารที่เราเรียกกันว่าเทมปุระเข้ามาด้วย คาดว่าน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาโปรตุเกสในคำว่า “เทมเปโระ” ซึ่งหมายถึงการปรุงอาหาร บ้างก็กล่าวกันว่าน่าจะมาจากคำว่า “เทมโประ” มีความหมายว่า วันหยุดทางนิกายคาทอลิก ในสมัยนั้นน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหารนั้นมีค่ามาก อาหารที่ต้องใช้น้ำมันมากอย่างเทมปุระก็ถือเป็นอาหารที่ไฮโซเลยก็ว่าได้

….

4. ข้าวแกงกะหรี่

ผงกะหรี่ (カレー kare) มีต้นกำเนิดดั้งเดิมมาจากประเทศอินเดีย และได้เผยแพร่ไปยังประเทศอังกฤษและประเทศในแถบยุโรปช่วงศตวรรษที่ 18 จากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ ต่อมา ผงกะหรี่ได้เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงสมัยเมจิ (1868-1912) ผ่านการค้าขายกับประเทศอังกฤษและประเทศในแถบยุโรป ในช่วงแรกนั้นถือว่าเป็นสินค้าสำหรับคนชั้นสูง เพราะมีราคาแพงมาก ปี 1927 ร้านอาหารใหญ่ๆ ในโตเกียวได้ทำข้าวอบผงกะหรี่เป็นเมนูแนะนำสำหรับลูกค้าแต่ก็ยังมีราคาที่สูงอยู่ จนมีบริษัทเอกชนนำเข้าผงกะหรี่มาจำหน่ายในปี 1931 ทำให้คนทั่วไปรู้จักกันมากขึ้น และร้านอาหารทั่วไปก็เริ่มทำอาหารที่ปรุงด้วยผงกะหรี่และจำหน่ายในราคาไม่แพง นับแต่นั้นมา ข้าวแกงกะหรี่ก็ได้ถูกพัฒนารสชาติเรื่อยมาและได้กลายเป็นอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นนั่นเอง

5. โอโคโนมิยากิ

โอโคโนมิยากิ หรือที่เรียกกันติดปากคนไทยว่า “พิซซ่าญี่ปุ่น” โอโคโนมิยากิที่มีชื่อเสียงมีอยู่ 2 สไตล์ คือ สไตล์โอซาก้าหรือคันไซ และสไตล์ฮิโรชิม่า ส่วนใหญ่แล้วแบบคันไซจะได้รับความนิยมมากกว่า

เทกิชู โมโตยามะ นักวิจัยอาหารของญี่ปุ่นเผยว่า อาหารแผ่นบางที่ชื่อ ฟูโนยากิ อาจจะเป็นต้นแบบของโอโกโนมิยากิ แม้จะไม่ค่อยมีส่วนผสมที่ใกล้เคียงกับโอโกโนมิยากิเลยก็ตาม คำว่า ฟูโนยากิ ปรากฏในหลักฐานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 จากงานเขียนของเซ็ง โนะ ริกีว พ่อค้าชงชาผู้มีชื่อเสียง (แต่บ้างก็ว่าเป็นเพียงคำบอกเล่าเท่านั้น) โดยมีการใช้แป้งเปียกในการทำ แม้ในช่วงปลายของยุคเอโดะ ฟูโนยากิ จะหมายถึงแผ่นแป้งบางทามิโซะแล้วนำไปอบที่เตา

นักวิจัยโมโตยามะเผยว่า หลังจากนั้นก็มีการดัดแปลงจนอยู่ในรูปอาหารที่เรียกว่า เนริอัง  หรือแผ่นถั่วหวาน จากนั้นก็ถูกเรียกว่า กินสึบะ ที่เกียวโตและโอซากะ และเมื่ออาหารนี้เผยแพร่ไปถึงเอโดะ (โตเกียว) อาหารนี้ก็ถูกเรียกว่า คินสึบะ

ในยุคเมจิ ขนมชนิดนี้ถูกนำไปขายที่ร้านขายขนมแบบ ดางาชิยะ และมีชื่อเรียกว่า โมจิยากิ แต่หลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต พ.ศ. 2466 เมื่อผู้คนไม่มีสิ่งบันเทิงใจ ก็เกิดแนวคิดทำอาหารชนิดนี้เพื่อฆ่าเวลา

ต่อมาที่เกียวโต ย่านอิซเซ็งโยโชกุ หรือย่านอาหารตะวันตกหนึ่งเซน ในช่วงเริ่มต้นของยุคไทโช ก็เริ่มมีการคิดค้นโอโกโนมิยากิฉบับแรกขึ้น

….

6. ชาบู ชาบู

ชาบูปลาหมึก

ชาบู-ชาบู อาหารตำรับญี่ปุ่นเมนูนี้ถือกำเนิดจากเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 โดยอาหารรายการนี้ผู้ให้กำเนิดคือ ภัตตาคารซูอิฮิโระ เป็นการดัดแปลงจากอาหารลักษณะเดียวกัน ที่มีต้นกำเนิดที่ประเทศจีน ซึ่งคำว่า ชาบู-ชาบู เลียนมาจากเสียงของเนื้อที่แล่บางๆ คีบลงไปจุ่มในน้ำซุปแล้วส่ายมือไปมา ทำให้เกิดเสียงที่ได้ยินว่า ชาบู-ชาบู โดยในตอนแรกนั้นเป็นชื่อของเมนูหนึ่งที่เสิร์ฟเป็นหม้อไฟ คล้ายกับสุกียากี้ แต่เนื้อจะแล่บางกว่า กินพร้อมกับน้ำจิ้มที่มีรสเผ็ดมากกว่าและหวานน้อยกว่าน้ำจิ้มสุกี้ แต่หลังจากเป็นที่นิยม ภัตตาคารซูอิฮิโระได้จดทะเบียนชื่อ ชาบู-ชาบู เป็นเครื่องหมายการค้าใน ค.ศ.1955 นับแต่นั้นมาชื่อเสียงของ ชาบู-ชาบู ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นทั้งในโตเกียว และต่อมาถึงทวีปเอเชีย จนกระทั่งปัจจุบันทั่วทั้งโลกแทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก “ชาบู-ชาบู”

….

7. มิโซะซุป

ซุปมิโซะ หรือ มิโซะชิรุ คือซุปที่ทำจากดาชิที่เป็นน้ำซุปหลักผสมกับมิโซะ และใส่เครื่องปรุงอื่นๆ ตามความชอบ แต่ว่ากันว่า ญี่ปุ่นรับเอาวิธีทำมิโซะมาจากประเทศจีนผ่านทางคาบสมุทรเกาหลีมากว่า 1,000 ปีแล้ว จนถึงทุกวันนี้มิโซะก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในมื้ออาหารของชาวญี่ปุ่นเลยทีเดียว เพราะชาวญี่ปุ่นทุกคนรู้ว่ามิโซะนั้นอุดมไปด้วยสารอาหารช่วยให้มีสุขภาพดี จึงนิยมทานกันเรื่อยมา ในสมัยมุโรมาจิ (ปี ค.ศ.1336-1568) ชาวบ้านนิยมทำซุปมิโซะกินกันอย่างแพร่หลาย แม้แต่ในช่วงสงครามกลางเมือง มีเขียนไว้ใน Zouhyou Monogatari ว่า มีการเอามิโซะต้มกับก้านต้นเผือกแล้วทำให้แห้ง ควั่นให้คล้ายเชือก เพื่อขนไปเป็นเสบียงในช่วงสงครามอีกด้วย

….

8. ยากิโทริ

ที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการรับประทานสัตว์ปีกมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ทั้งเป็ด นกกระทา ไก่ฟ้า แต่สำหรับเมนูไก่ย่างยากิโทริได้ถูกแนะนำลงในหนังสืออาหารเมื่อปี 1682 หลังจากนั้นในสมัยเมจิก็มีร้านอาหารที่เสิร์ฟเมนูไก่ย่างยากิโทริ ส่วนมากจะใช้เครื่องในไก่ ขนาดหนึ่งคำราคาประมาณ 3-5 ริง (ค่าเงินสมัยโบราณในตอนนั้น)

เมื่อมีเตาย่างขนาดใหญ่ก็ตอบโจทย์คนหมู่มาก ในช่วงสมัยเมจิ ไทโช ไก่ย่างยากิโทริ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และนิยมรับประทานกันมากในช่วงปีโชวะที่ 28 การเลี้ยงไก่เนื้อก็เพิ่มมากขึ้นและเตาสำหรับย่างเนื้อก็มีเข้ามา จึงทำให้เกิดร้านขายไก่ย่างยากิโทริและร้านเหล้าอิซากายะขึ้นมา กลายเป็นเมนูยอดฮิตที่ทานคู่กับเบียร์สักหน่อยก่อนกลับบ้าน

….

9. โอนิกิริ

ต้นกำเนิดข้าวปั้น ไม่ได้มีประวัติที่แน่ชัด แต่หลักฐานแน่ชัดใน ศตวรรษที่ 11 คุณ มุระซะกิ ชิกิบุ ได้บันทึกลงสมุดของเธอ เกี่ยวการได้กินข้าวปั้น สมัยนั้นญี่ปุ่นยังไม่เรียกว่า โอนิกิริ แต่จะเรียกว่า Tonjiki ในสมัยก่อนมีสงคราม เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก การถนอมอาหารก็ยังไม่มี ก็เลยต้องพกข้าวปั้นไปเป็นเสบียงอาหาร และต่อมาสมัยคามาคุระ ได้เรียก โอนิกิริ ว่า quick meal เพราะวิธีการทำที่ง่ายและรวดเร็วมาก ทำให้ผลิตตามความต้องการของประชาชนได้ หลังช่วงต้นเอโดะก็จะเรียกว่า โอนิกิริ และต่อมา ข้าวปั้นเป็นที่นิยมมาก จึงเกิดการสร้างเครื่องปั้นข้าว ขึ้นมา เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ และพัฒนาเครื่องจนมาถึงปัจจุบัน

….

10. อูด้ง

เส้นอูดงมีต้นกำเนิดมาจากเส้นชูเมี่ยน (ภาษาจีน: 粗麵, พินอิน: cū miàn) ของประเทศจีน เป็นเส้นทำจากแป้งสาลี ยาว หนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร นิยมทานในซุปผสมเต้าเจี้ยว ถือเป็นอาหารภาคเหนือของจีน

เส้นอูดงได้เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางไปจาริกยังประเทศจีน ชาวญี่ปุ่นได้ยกย่องพระคูไก (ญี่ปุ่น: 空海 โรมาจิ: Kūkai) และพระเอ็นนิ (ญี่ปุ่น: 圓爾辯圓 โรมาจิ: Enni Ben’en) ให้เป็นต้นตำรับการปรุงเส้นอูดงของญี่ปุ่น พระคูไคเดินทางไปยังประเทศจีนในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 9 เพื่อศึกษาพุทธศาสนา โดยอดีตจังหวัดซานูกิ (ญี่ปุ่น: 讃岐国 โรมาจิ: Sanuki no kuni) หรือปัจจุบันคือจังหวัดคางาวะบนเกาะชิโกกุ ประกาศตัวเป็นผู้สืบทอดสูตรการทำอูดงจากพระคูไก ส่วนพระเอ็นนิ ซึ่งเป็นพระนิกายเซน สำนักรินไซ (ญี่ปุ่น: 臨済宗 โรมาจิ: Rinzai-s) ได้เดินทางไปประเทศจีนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยมีเมืองฮากาตะ จังหวัดฟูกูโอกะ เป็นผู้ประกาศว่าสืบทอดสูตรของพระเอ็นนิ

….

11. โซบะ

โซบะ เป็นอาหารที่มีประวัติมายาวนานตั้งแต่สมัยโจมง (ประมาณ 2,400-16,000 ปีก่อน) โดยว่ากันว่ามีการเพาะปลูกต้นโซบะตั้งแต่ในยุคโจมง และจีนก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยได้นำเครื่องโม่เข้ามาภายในประเทศจนทำให้เกิดการพัฒนาเส้นโซบะขึ้นมา ตั้งแต่นั้นคนญี่ปุ่นก็เริ่มหันมาทานโซบะมากขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่น

….

12. กิวด้ง

รากเหง้าของข้าวหน้าเนื้อนั้น มาจากต้มเนื้อวัวที่เสิร์ฟกับหม้อดิน มีมากันตั้งแต่ปลายๆ ศตวรรษที่ 18 แล้วมีการเปลี่ยนแปลงจากการเสิร์ฟ โดยเอาเนื้อวัวมาในหม้อมาโปะลงบนข้าวเลย เมื่อก่อนเนื้อวัวมีกลิ่นเหม็นมาก เลยปรุงข้าวหน้าเนื้อโดยเอาเนื้อไปนึ่งกับมิโซะ (เต้าเจี้ยว) หลังๆ เมื่อเนื้อมีคุณภาพที่ดีขึ้น ก็เลยเอาเนื้อไปปรุงกับซอสโชยุที่ผสมน้ำตาลแทน ปัจจุบันนี้ “กิวด้ง” นี่ถือว่าเป็นอาหารฟาสต์ฟู้ดสไตล์ญี่ปุ่น มีแฟรนไชส์หลายเจ้ามีให้เลือกเต็มไปหมดเลยค่า

….

13. เกี๊ยวซ่า

เกี๊ยวซ่า เป็นอาหารจีนชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งสาลีห่อไส้ที่ทำจากเนื้อสัตว์ แผ่นแป้งเป็นแป้งสาลีไม่ใส่ผงฟูหรือยีสต์ นำมาห่อไส้หมูแล้วทอด เกี๊ยวซ่าในภาษาไทยมาจากภาษาญี่ปุ่นว่าเกี๊ยวซ่า ญี่ปุ่นได้รับอาหารชนิดนี้มาจากชาวแมนจู ซึ่งนำไปทอดรับประทานเช่นกัน ชาวจีนทางเหนือรับอาหารชนิดมาจากชาวแมนจูเช่นกัน เรียกว่าเจี่ยวจือ นำมาต้มแล้วกินกับน้ำซุป อาหารชนิดนี้เป็นคนละชนิดกับเกี๊ยวซึ่งคนไทยจะเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งจะตรงกับอาหารจีนกวางตุ้งที่เรียกหุนทุน เกี๊ยวซ่าทำจากแป้งที่มีส่วนผสมของแป้งสาลี ไข่ น้ำแล้วเกลือ นวดให้เข้ากันแล้วตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ใส่ใส้ตรงกลางกลางแล้วห่อให้เป็นรูปร่างตามต้องการ ไส้ที่นิยมคือหมูบดและกุ้งบด โดยผสมแป้งเล็กน้อยเพื่อช่วยให้ยึดกันดี ปรุงรสด้วยเกลือ เครื่องเทศ ใส่กระเทียมหรือต้นหอมสับ ทำให้สุกโดยการนึ่ง หรือ ทอด

….

ที่มาจาก gyozacnxNakayoshi Japanese Restaurant , allabout-japan.com , japan555.com , fun-japan.jp , jfoodsbkk.namjai.cc , tpapress.com และ Evaime Shabu Shabu

บทความที่เกี่ยวข้อง